พระเจ้านิโคลาสที่ 2
พระเจ้านิโคลาสที่ 2 เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย ประสูติเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 มีพระชายาเป็นเยอรมัน เคยเข้ามาเมืองไทยและเป็นมหามิตรสนิทสนมที่สุด กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงของเรา ไทยเราเรียกกันว่า พระเจ้าซาร์ ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระชนก เมื่อพระชนม์ได้ 28 พรรษา พออยู่ในราชสมบัติได้ 8 ปี ก็รบแพ้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญญาณอันแรกแห่งความล่มจมของราชวงศ์กษัตริย์ในรัสเซีย ต่อมาอีก 10 ปี เกิดสงครามโลกครั้งแรก รัสเซียอยู่ข้างอังกฤษ ฝรั่งเศส รบไปได้ 3 ปี เกิดจลาจลในประเทศรัสเซีย พระองค์เองกับพระชายาพระโอรสพระราชธิดา ถูกจับไปรวมอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วถูกกบฏเข้ามายิงตายหมดในคราวเดียวกัน
เรื่องของกระเจ้านิโคลาสที่ 2 มีมาก แต่ที่จะนำมาเล่าในที่นี้ มีเพียงเรื่องเดียว ที่แสดงความอ่อนแอของพระองค์ พระเจ้านิโคลาสที่ 2 มีชื่อเสียงในทางอ่อนแอ ไม่มีความคิดริเริ่ม หรือตัดสินพระทัยอะไรเอง ชอบฟังเสียงคนอื่นแล้วใครทูลอะไรด้วยก็เห็นจริงด้วยหมด เรื่องที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงลักษณะอ่อนแอของพระเจ้านิโคลาสที่ 2
ในสมัยยุโรปกำลังปั่นป่วนด้วยมหาสงครามที่ระเบิดขึ้น ในปีพุทธศักราช 2457 ก็เกิดปัญหาอันสำคัญสำหรับประเทศรัสเซียว่า ควรจะเข้าสงครามด้วยหรือไม่ พระเจ้าซาร์ นิโคลาสทรงเรียกรัฐมนตรีเข้ามาปรึกษาทีละคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาก่อน ทูลเสนอความเห็นด้วยการต่างๆ ลงท้ายว่า ควรเข้ารบด้วยทันที
จริงของแก พระเจ้าซาร์ นิโคลาสรับสั่ง
พอรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออกไปแล้ว รัฐมนตรีมหาดไทยก็เข้ามาเฝ้า กราบทูลความเห็นถึงการภายในที่อาจจะยุ่งยากขึ้น ถ้าหากรัสเซียเข้ามีส่วนร่วมในสงคราม และลงท้ายเห็นว่าไม่ควรเข้า
ก็จริงของแกอีก พระเจ้าซาร์ นิโคลาสรับสั่ง แล้วรัฐมนตรีมหาดไทยก็ทูลลาออกไป
ต่อจากรัฐมนตรีมหาดไทย ถึงวาระรัฐมนตรีกลาโหมเข้าเฝ้า กราบทูลชี้แจงและลงความเห็นว่า ควรเข้าสงครามในคราวนี้แท้ๆ
ก็จริงของแก พระเจ้าซาร์ นิโคลาสรับสั่งตามเคย
คราวนี้ถึงวาระรัฐมนตรีว่าการคลังเข้ามาทูลถวายความเห็นบ้าง ตามทำนองของรัฐมนตรีคลังทั่วโลกที่ไม่อยากให้มีสงคราม จึงกราบทูลชี้แจงเหตุผลและลงท้ายก็ทูลเสนอความเห็นว่า รัสเซียไม่ควรเข้าสงครามเลยทีเดียว
ก็จริงของแก พระเจ้าซาร์ นิโคลาสรับสั่ง แล้วรัฐมนตรีคลังก็ออกไป
ตลอดเวลาที่รัฐมนตรี 4 กระทรวงเข้ามาเฝ้า พระเจ้าซาร์ นิโคลาสรับสั่ง จริงของแก อยู่ 4 ครั้งนี้ พระราชินีได้ประทับอยู่ด้วย พอรัฐมนตรีคลังคล้อยหลัง พระราชินีแผดพระสุรเสียงดังลั่น
รัฐมนตรี 4 กระทรวงมาทูลความเห็นต่างๆ กัน ทรงเห็นด้วยกันทั้งหมด พระราชินีรับสั่ง พระองค์เป็นกษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด ไม่ได้ทรงมีความคิดความเห็นของพระองค์บ้างเลย ผู้ที่เป็นประมุขของประชาชนทั้งร้อยล้านเช่นนี้ จะมัวแต่เชื่อฟังคนอื่นและ จริงของแก ไปทั้งหมดนี้ ก็นำความพินาศมาให้แก่บ้านเมือง พระองค์ต้องทรงใช้พระดำริของพระองค์เองบ้างจึงจะถูก
พระเจ้าซาร์ นิโคลาสมองพระพักตร์พระราชินีอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วรีบสั่งออกมาว่า จริงของแก
ความอ่อนแอของพระเจ้าซาร์ นิโคลาสดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นมูลแห่งความล่มจมของโรมานอฟ และความยุคเข็ญของประเทศรัสเซียทั้งหมด
|